สมาคมตำรวจ » The Royal Thai Police Association
logo สมาคมตำรวจ
สมาคมตำรวจ
นายกสมาคม
พลตำรวจเอก วินัย ทองสอง
สถิติสมาคมตำรวจ
ผู้ที่เป็นสมาชิกแล้ว 10,509
ผู้ที่ยังไม่เป็นสมาชิก 6
ผู้ที่ยังไม่ทราบสถานะ 10,680
จำนวนผู้ลงทะเบียน 21,457
ผู้เยี่ยมชมวันนี้ 76
ผู้เยี่ยมชมเมื่อวานนี้ 123
ผู้เยี่ยมชมทั้งหมด 491,899
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง +
ประวัติสมาคมตำรวจ
 
สมาคมตำรวจ
การก่อตั้งสมาคมตำรวจ  เป็นความคิดและความพยายามต่อเนื่องกันมายาวนาน  เริ่มตั้งแต่การรวมกลุ่มระหว่างนายตำรวจที่อยากจะพบปะพูดคุยและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  เริ่มแรกเท่าที่จำได้คือประมาณ พ.ศ.๒๕๑๐-๒๕๑๑  หลังจากผู้เขียนสำเร็จปริญญาโททางรัฐประศาสนศาสตร์รับราชการเป็นผู้ช่วยเลขานุการอยู่ที่โรงเรียนสืบสวน  กรมตำรวจ  ได้มีนายตำรวจที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นใกล้เคียงกันมาพบและขอให้ช่วยแนะแนวในการสอบคัดเลือกเพื่อเข้าศึกษาต่อในคณะที่รัฐประศาสนศาสตร์ ผู้เขียนเลยเปิดแนะแนวการสอบคัดเลือกขึ้น  โดยตกลงกันว่าผู้แนะแนวจะออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด แต่ใครสอบได้จะต้องกลับมาเป็นผู้แนะแนวให้กับผู้ประสงค์จะเข้าศึกษาต่อในรุ่นถัดไปรับช่วงกันไปเป็นรุ่นๆ  เมื่อมีนายตำรวจสอบคัดเลือกเข้าศึกษาก็มีการเลี้ยงแสดงความยินดีและถือโอกาสเลี้ยงตอบแทนผู้แนะแนวไปด้วย
 
ในครั้งแรกผู้เขียนได้ให้คำแนะนำกับ พล.ต.ต.ปิติ  ประจักษ์จิตต์ และ พล.ต.ต.โยธิน มัธยมนันทน์  ซึ่งสามารถสอบเข้าไปศึกษาได้ใน ปี พ.ศ.๒๕๑๑  ในปีต่อมามีผู้สอบเข้าเรียนได้อีก ๒ คน คือ พล.ต.ท.สมชาย  ประภัสภักดี กับ พล.ต.ต.อชิระ  สมแก้ว  การจัดเลี้ยงก็มีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ เมื่อจัดเลี้ยงจะมีการเสนอบทความในเรื่องแนวความคิดในการพัฒนากรมตำรวจด้วย  หลังจากนั้นก็จะร่วมกันจัดทำโครงการและผลักดันให้ได้ผล  ซึ่งก็ทำให้เริ่มมีความคิดเห็นไม่ค่อยจะตรงกับความคิดของผู้บริหารงานกรมตำรวจ  เพราะแนวความคิดทางวิชาการที่เสนอเป็นความคิดอิสระ  แต่ผู้บริหารมีข้อจำกัดคือต้องสนองนโยบายของกระทรวงมหาดไทยและรัฐบาล  รวมทั้งต้องระมัดระวังไม่ให้มีความเห็นขัดแย้งกับความคิดของทหาร ซึ่งใช้อำนาจปกครองประเทศอยู่ในขณะนั้น  แต่ก็มีนายตำรวจที่มีหัวก้าวหน้าหลายนายพยายามช่วยกันผลักดันอย่างเต็มที่  โดยเฉพาะการใช้พลังกลุ่มมี พ.ต.อ.อนวัชช  ปักษานนท์  นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ของผู้เขียนเป็นตัวตั้งตัวตีอย่างแข็งขัน จนถึงขนาดมีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ในขณะนั้นหลายนายหมายหัวไว้  แล้วท่านก็ไม่เจริญก้าวหน้าในการรับราชการจริงๆ  สู้พวกประจบนายไม่ได้
 
หลังจากการประชุมประจำปีที่โรงเรียนเอเซียในปี พ.ศ.๒๕๑๙   พล.ต.ท.สืบ  พงศ์สุวรรณ  ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่ง  รองผู้บัญชาการศึกษา  ได้แจ้งให้ทราบว่า ท่าน อ.ตร. พล.ต.อ.มนต์ชัย  พันธ์คงชื่น  ไม่อยากจะให้จัดประชุมเพราะไม่อยากจะทำให้เกิดความยุ่งยาก  และทำให้ผู้บังคับบัญชาลำบากใจ การประชุมทางวิชาการประจำปีจึงต้องยกเลิก  แต่ผลของการดำเนินการในช่วงระยะเวลานั้น  ทำให้มีการขยายกองบัญชาการตำรวจภูธร  ซึ่งมีอยู่กองบัญชาการเดียวขึ้นเป็น ๔ กองบัญชาการ อนุโลมตามเขตพื้นที่ของกองทัพภาค มีแนวความคิดที่จะบริหารงานโดยใช้แผนงานและมีการรวมกลุ่มกันต่อสู้เรื่องการโอนอำนาจการสอบสวนคดีอาญาในส่วนภูมิภาค  จัดตั้งกองกำลังพลแยกออกมาจากสำนักงานเลขานุการกรม ร่างพระราชบัญญัติโรงเรียนนายร้อยตำรวจให้นักเรียนนายร้อยตำรวจที่สำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาตรี  จัดตั้งกองบังคับการตำรวจภูธรขึ้น ๑๒ ภาค มีการจัดเตรียมขยายงานเพื่อตั้งกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัด  ซึ่งก็ประสบความสำเร็จในเวลาต่อมา
 
คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติได้พิจารณาอนุมัติให้จัดตั้งสมาคมตำรวจได้ เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๔๐  และนายทะเบียนสมาคมประจำกรุงเทพมหานคร  ได้รับจดทะเบียน เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๔๐  ได้ทะเบียนเลขที่ จ.๓๗๖๔/๒๕๔๐ ในครั้งแรกสมาคมตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่ ๘๐๓  จุฬาลงกรณ์ ซอย ๒  ถนนพระราม ๑  แขวงวังใหม่  เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ ๑๐๓๓๐  โดยผู้เขียนไปขอเช่าอาคารพาณิชของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในราคาเดือนละ ๓๐,๐๐๐ บาท   ต่อมาเพื่อจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายของสมาคมคณะกรรมการบริหารได้มีมติให้ขอใช้พื้นที่อาคารสโมสรตำรวจ เลขที่ ๘๙ หมู่ ๓  ถนนวิภาวดีรังสิต  แขวงตลาดบางเขน  เขตหลักสี่  กรุงเทพฯ  ๑๐๒๑๐  เป็นที่ตั้ง ซึ่งกรมตำรวจได้อนุญาตให้ตามขอ