![]() ![]() นายกสมาคม
พลตำรวจเอก วินัย ทองสอง เกี่ยวกับสมาคม +
สถิติสมาคมตำรวจ
|
ข้อบังคับของสมาคมตำรวจ
ข้อบังคับสมาคมตำรวจ พ.ศ.๒๕๖๓ -------------------- เพื่อให้การบริหารงานของสมาคมตำรวจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีความชัดเจนและคล่องตัว จึงมีความจำเป็นต้องออกข้อบังคับฉบับนี้ โดยที่ประชุมสมาคมตำรวจในการประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ ๑/๒๕๖๓ เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๖๓ มีมติเห็นชอบแล้วดังนี้
หมวดที่ ๑ ความทั่วไป -------------------- ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับสมาคมตำรวจ พ.ศ.๒๕๖๓” ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้เมื่อนายทะเบียนได้จดทะเบียนแล้ว ให้มีผลใช้บังคับได้ ข้อ ๓ ให้ยกเลิกข้อบังคับสมาคมตำรวจ พ.ศ.๒๕๕๙ และทุกฉบับก่อนหน้านี้ที่เคยบัญญัติไว้ ข้อ ๔ สมาคมนี้ใช้ชื่อว่า “สมาคมตำรวจ” เรียกโดยย่อว่า “สตร.” ข้อ ๕ เครื่องหมายของสมาคมตำรวจมีลักษณะเป็นรูปโล่และเขน ภายในโล่มีรูปมือแปดมือประสานกัน มีตัวหนังสือเขียนด้านบนว่า “สมาคมตำรวจ” และด้านล่างเขียนว่า “THE ROYAL THAI POLICE ASSOCIATION” รูปเครื่องหมายสมาคมตำรวจ ข้อ ๖ สำนักงานของสมาคมตั้งอยู่ ณ อาคารสโมสรตำรวจ เลขที่ ๘๙ หมู่ ๓ ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๑๐ ข้อ ๗ วัตถุประสงค์ของสมาคมตำรวจ ๗.๑ ให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สวัสดิการ และความเป็นธรรมของสมาชิก ข้าราชการตำรวจ และประชาชนอย่างทั่วถึงครอบคลุมทุกภูมิภาคโดยการบริหารงานในรูปแบบสมาคมตำรวจสาขาในจังหวัดต่างๆ โดยมีหัวหน้าสมาคมตำรวจสาขาเป็นผู้รับผิดชอบ
๗.๒ พัฒนาคุณภาพชีวิตของสมาชิก ข้าราชการตำรวจ และครอบครัว ๗.๓ พัฒนาศักยภาพของบุคลากรตำรวจ องค์กรตำรวจ และผู้ทำหน้าที่ในการรักษาสันติสุขของสังคม ๗.๔ ประกาศเกียรติคุณข้าราชการตำรวจ และผู้ประกอบคุณงามความดีแก่สังคม ๗.๕ สงเคราะห์ข้าราชการตำรวจ อาสาสมัคร พลเมืองดี ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่ ๗.๖ ผลักดันการปรับปรุงองค์กร ระบบงาน เทคโนโลยี ระเบียบ และกฎหมาย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติงานขององค์กรตำรวจ และองค์กรที่ทำหน้าที่รักษาสันติสุขของสังคม ๗.๗ ผลักดันให้องค์กรตำรวจเป็นองค์กรวิชาชีพที่ปราศจากการแทรกแซงจากอิทธิพลภายนอก ๗.๘ ร่วมมือกับองค์กรภาคีเครือข่ายเพื่อสร้างความปลอดภัย การจัดระเบียบสังคม ปัญหาความเดือดร้อน และสันติสุขของสังคม ๗.๙ ดำเนินการหรือร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่ายจัดการศึกษา วิจัย ฝึกอบรม จัดประชุมหรือสัมมนาทางวิชาการ จัดนิทรรศการ เพื่อเพิ่มพูนองค์ความรู้ทางวิชาการและทักษะในการปฏิบัติงานของตำรวจและการรักษาสันติสุขของสังคมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ๗.๑๐ ดำเนินการหรือร่วมกับองค์กรอื่น เพื่อการสาธารณกุศล และการสาธารณประโยชน์
หมวดที่ ๒ สมาชิก -------------------- ข้อ ๘ สมาชิกของสมาคมมี ๓ ประเภท ๘.๑ สมาชิกสามัญ ได้แก่ ผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการตำรวจ หรือลูกจ้างประจำ หรือ ข้าราชการบำเหน็จบำนาญที่รับหรือเคยรับเงินเดือนจากงบประมาณของสำนักงานตำรวจแห่งชาติทุกระดับ และเลขาธิการสมาคมรับเป็นสมาชิก ๘.๒ สมาชิกวิสามัญ ได้แก่ บุคคลที่ทำประโยชน์ให้แก่ทางราชการตำรวจหรือสังคมเป็น ส่วนรวม โดยสมาชิกสามัญเป็นผู้รับรองไม่น้อยกว่า ๑ คน และคณะกรรมการสมาคมมีมติรับเป็นสมาชิก ๘.๓ สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ บุคคลผู้ทรงเกียรติหรือผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งคณะกรรมการสมาคมมีมติเชิญเข้าเป็นสมาชิก ข้อ ๙ สมาชิกต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ ๙.๑ เป็นผู้บรรลุนิติภาวะ ๙.๒ เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย ๙.๓ ไม่เป็นโรคที่สังคมรังเกียจ ๙.๔ ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย ๙.๕ ไม่เป็นผู้เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ ๙.๖ ไม่เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ ข้อ ๑๐ ค่าบำรุงสมาคม ๑๐.๑ สมาชิกสามัญ ชำระค่าบำรุงสมาคมครั้งเดียวตลอดชีพ ๑๐๐ บาท ๑๐.๒ สมาชิกวิสามัญ ชำระค่าบำรุงสมาคมเป็นรายปี ๆ ละ ๑๐๐ บาท หากขาดการชำระค่าบำรุงเกินกว่า ๒ ปี ติดต่อกันให้ถือว่าขาดจากสมาชิกภาพ หรือเสียค่าบำรุงตลอดชีพ ๑,๐๐๐ บาท ๑๐.๓ สมาชิกกิตติมศักดิ์ ไม่ต้องชำระค่าบำรุงสมาคม ข้อ ๑๑ สมาชิกภาพของสมาชิกให้สิ้นสุดลงด้วยเหตุต่อไปนี้ ๑๑.๑ ตาย ๑๑.๒ ลาออกโดยยื่นหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการสมาคม ๑๑.๓ ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามข้อ ๙ ๑๑.๔ ที่ประชุมใหญ่สมาคมหรือคณะกรรมการสมาคมได้พิจารณาอนุมัติให้ลบชื่อออกจากทะเบียนเพราะสมาชิกผู้นั้นได้ประพฤติตนนำความเสื่อมเสียมาสู่สมาคม การลบชื่อสมาชิกออกจากทะเบียนตามวรรคหนึ่ง หากกระทำโดยมติของกรรมการสมาคมต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า ๓ ใน ๔ ของจำนวนกรรมการที่เข้าประชุมทั้งหมด ถ้ากระทำโดยมติที่ประชุมใหญ่ต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า ๒ ใน ๓ ของผู้มีสิทธิออกเสียงในที่ประชุมใหญ่นั้น ข้อ ๑๒ สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก มีดังนี้ ๑๒.๑ เข้าใช้สถานที่ของสมาคมโดยเท่าเทียมกัน ๑๒.๒ เสนอความคิดเห็นเพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจการของสมาคมต่อคณะกรรมการ ๑๒.๓ ได้รับสวัสดิการต่างๆ ที่สมาคมได้จัดให้มีขึ้นตามระเบียบของสมาคม ๑๒.๔ เข้าร่วมประชุมใหญ่ของสมาคม ๑๒.๕ ปฏิบัติตามข้อบังคับและระเบียบของสมาคมโดยเคร่งครัด ๑๒.๖ ประพฤติตนให้สมเกียรติที่เป็นสมาชิกของสมาคม ๑๒.๗ ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินกิจการต่างๆ ของสมาคม ๑๒.๘ ร่วมกิจกรรมที่สมาคมได้จัดให้มีขึ้น ๑๒.๙ ช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงของสมาคมให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ข้อ ๑๓ สิทธิเฉพาะสมาชิกสามัญ ๑๓.๑ ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งนายกสมาคม โดยจะต้องมาลงคะแนนเสียงเลือกตั้งด้วยตนเอง ๑๓.๒ ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกสมาคม ๑๓.๓ รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการสมาคม ๑๓.๔ ออกเสียงลงมติต่างๆ ในที่ประชุม โดยสมาชิกคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ๑๓.๕ ร้องขอต่อคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบเอกสารและบัญชีทรัพย์สินของสมาคม ๑๓.๖ เข้าชื่อร่วมกันจำนวนไม่น้อยกว่า ๕๐ คน ทำหนังสือร้องขอต่อคณะกรรมการสมาคมหรือนายกสมาคมให้จัดการประชุมใหญ่วิสามัญได้ หมวดที่ ๓ การดำเนินกิจการสมาคม -------------------- ข้อ ๑๔ ให้มีคณะกรรมการสมาคมคณะหนึ่งทำหน้าที่บริหารกิจการของสมาคมมีจำนวนไม่น้อยกว่า ๑๕ คน และไม่เกิน ๔๒ คน โดยให้ที่ประชุมใหญ่เลือกสมาชิกสามัญเป็นนายกสมาคมจากรายชื่อที่สมาชิกเสนอในที่ประชุมด้วยความยินยอมของบุคคลดังกล่าว ซึ่งมีสมาชิกรับรองผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อไม่น้อยกว่า ๓ คน ในกรณีที่มีการเสนอชื่อสมาชิกสามัญเป็นนายกสมาคมมากกว่า ๑ คน ให้ใช้วิธีการเลือกนายกสมาคมโดยการออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่คราวนั้นด้วยวิธีการหย่อนบัตรลงคะแนน เมื่อที่ประชุมใหญ่ได้เลือกนายกสมาคมแล้ว ให้นายกสมาคมเป็นผู้คัดเลือกสมาชิกสามัญร่วมเป็นกรรมการสมาคม และให้นายกสมาคมแต่งตั้งผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ๑ คน เป็นรองนายกสมาคมด้วย ทั้งนี้ต้องดำเนินการแต่งตั้งแล้วนำรายชื่อคณะกรรมการสมาคมชุดใหม่ไปยื่นจดทะเบียนภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่ได้เลือกตั้งนายกสมาคม ข้อ ๑๕ คณะกรรมการสมาคมมีตำแหน่ง และมีอำนาจและหน้าที่โดยสังเขป ดังต่อไปนี้ ๑๕.๑ นายกสมาคม มีอำนาจและหน้าที่ ๑๕.๑.๑ ควบคุมดูแลการดำเนินกิจการให้เป็นไปตามข้อบังคับ และวัตถุประสงค์ของสมาคม ๑๕.๑.๒ เป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการ และการประชุมใหญ่ของสมาคม ๑๕.๑.๓ เป็นผู้แทนของสมาคมในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก ๑๕.๑.๔ ทำนิติกรรมจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุฉบับปัจจุบันโดยอนุโลม ๑๕.๒ รองนายกสมาคม มีอำนาจและหน้าที่ ๑๕.๒.๑ เป็นผู้ช่วยนายกสมาคมในการบริหารกิจการสมาคม ๑๕.๒.๒ ปฏิบัติงานตามที่นายกสมาคมมอบหมาย ๑๕.๒.๓ ทำการแทนเมื่อนายกสมาคมไม่อยู่ หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยการทำการแทนให้เป็นไปตามลำดับตำแหน่ง ๑๕.๓ เลขาธิการ มีอำนาจและหน้าที่ ๑๕.๓.๑ ควบคุมดูแลงานด้านธุรการของสมาคม ๑๕.๓.๒ กำกับดูแลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่สมาคม ๑๕.๓.๓ ติดต่อประสานงานกับทั้งหน่วยงานภายในและหน่วยงานภายนอก ๑๕.๓.๔ ปฏิบัติงานตามที่นายกสมาคมมอบหมาย ๑๕.๓.๕ เป็นเลขานุการในการประชุมต่างๆ ของสมาคม ๑๕.๔ เหรัญญิก มีอำนาจและหน้าที่ ๑๕.๔.๑ เก็บรักษาและควบคุมดูแลด้านการเงินทั้งหมดของสมาคม ๑๕.๔.๒ จัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย และงบดุลของสมาคม ๑๕.๔.๓ เก็บรักษาเอกสารหลักฐานต่างๆ ด้านการเงินของสมาคมไว้เพื่อตรวจสอบ ๑๕.๕ ปฏิคม มีอำนาจและหน้าที่ ๑๕.๕.๑ ให้การต้อนรับสมาชิกและแขกของสมาคม ๑๕.๕.๒ จัดเตรียมและดูแลสถานที่ของสมาคม ๑๕.๕.๓ จัดเตรียมสถานที่ประชุม ๑๕.๖ นายทะเบียน มีอำนาจและหน้าที่ ๑๕.๖.๑ จัดทำและเก็บรักษาทะเบียนสมาชิกทั้งหมดของสมาคม ๑๕.๖.๒ ประสานงานกับเหรัญญิกเรียกเก็บเงินค่าบำรุงสมาคมจากสมาชิก ๑๕.๗ ประชาสัมพันธ์ มีอำนาจและหน้าที่ ๑๕.๗.๑ เผยแพร่กิจกรรมต่างๆ ของสมาคมให้สมาชิกรับทราบ ๑๕.๗.๒ เผยแพร่ชื่อเสียงเกียรติคุณของสมาคมให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย ๑๕.๘ กรรมการกลาง มีอำนาจและหน้าที่ช่วยเหลืองานด้านต่าง ๆ ของสมาคมตามที่นายกสมาคมมอบหมาย คณะกรรมการสามารถกำหนดกรรมการตำแหน่งอื่นๆ เพิ่มเติมพร้อมกำหนดอำนาจและหน้าที่ได้ตามความเหมาะสม ข้อ ๑๖ ในกรณีที่นายกสมาคมเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญจำเป็นเร่งด่วนในการดำเนินกิจการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสมาคม ให้นายกสมาคมดำเนินการหรือออกคำสั่งหรือออกระเบียบหรืออื่นใด แล้วแจ้งให้คณะกรรมการสมาคมให้ความเห็นชอบภายหลัง ในกรณีคณะกรรมการสมาคมไม่ให้ความเห็นชอบให้ยุติการดำเนินการ แต่ไม่กระทบกับกรณีที่ได้ดำเนินการไปแล้วนั้น ข้อ ๑๗ คณะกรรมการของสมาคมมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ ๓ ปี แต่นายกสมาคมจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่า ๒ วาระไม่ได้ เมื่อมีการประชุมใหญ่เพื่อเลือกตั้งนายกสมาคมในปีใด ให้เริ่มต้นนับวาระการดำรงตำแหน่งนายกสมาคมคนใหม่ตั้งแต่วันที่ ๓๑ มีนาคม ของปีนั้น ไม่ว่าจะได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการเมื่อใดก็ตาม หากการเลือกตั้งนายกสมาคมไม่ได้ดำเนินการในวันประชุมใหญ่สามัญประจำปี หรือประชุมใหญ่วิสามัญภายใน ๖๐ วันตามปกติ การเริ่มนับวาระการดำรงตำแหน่งและการหมดวาระของนายกสมาคมคนใหม่ให้ขอมติจากที่ประชุมใหญ่ในวันเลือกตั้งนั้น ให้คณะกรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะกรรมการชุดใหม่จะได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการเรียบร้อยแล้ว โดยให้ทำการส่งและรับมอบงานกันให้เสร็จสิ้นภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่คณะกรรมการชุดใหม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ ข้อ ๑๘ กรณีตำแหน่งนายกสมาคมว่างลง หรือพ้นจากตำแหน่งก่อนครบกำหนดตามวาระให้คณะกรรมการทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งด้วย แต่ยังคงให้บริหารงานสมาคมไปพลางก่อนจนกว่าจะมีการเลือกนายกสมาคมและคณะกรรมการชุดใหม่เข้าบริหารงานสมาคม หากตำแหน่งนายกสมาคมว่างลงก่อนครบกำหนดตามวาระ ให้ดำเนินการเลือกตั้งนายกสมาคมคนใหม่ภายใน ๖๐ วัน โดยให้นำความในข้อ ๑๔ มาใช้บังคับโดยอนุโลม เว้นแต่เหลือวาระการดำรงตำแหน่งไม่ถึง ๖ เดือนก็ให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งจนกว่าจะมีการเลือกนายกสมาคมคนใหม่ตามปกติ ในกรณีที่กรรมการสมาคมพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ ให้นายกสมาคมแต่งตั้งสมาชิกสามัญคนใดคนหนึ่งที่เห็นสมควรเข้าดำรงตำแหน่งที่ว่างลงนั้น และให้อยู่ในตำแหน่งเท่าวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน ข้อ ๑๙ กรรมการสมาคมนอกจากพ้นจากตำแหน่งตามวาระแล้ว ให้พ้นจากตำแหน่งเมื่อ ๑๙.๑ ตาย ๑๙.๒ ลาออก ๑๙.๓ ขาดจากสมาชิก ๑๙.๔ ที่ประชุมใหญ่มีมติให้ออกจากตำแหน่ง ข้อ ๒๐ กรรมการที่ประสงค์จะลาออกจากตำแหน่งให้ยื่นใบลาออกเป็นลายลักษณ์อักษรต่อนายกสมาคม แต่ให้รักษาการไปพลางก่อน และนายกสมาคมจะต้องยื่นขอจดทะเบียนเพื่อเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการสมาคมภายใน ๓๐ วันนับแต่วันได้รับใบลาออก ข้อ ๒๑ คณะกรรมการของสมาคมมีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้ ๒๑.๑ ออกระเบียบต่างๆ เพื่อให้สมาชิกได้ปฏิบัติ โดยระเบียบนั้นต้องไม่ขัดต่อข้อบังคับสมาคม ๒๑.๒ แต่งตั้งถอดถอนเจ้าหน้าที่สมาคม ๒๑.๓ แต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษา หรือคณะอนุกรรมการ หรือผู้ช่วยคณะกรรมการหรือคณะกรรมการอื่นใดได้ แต่ผู้ได้รับแต่งตั้งดังกล่าวจะสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกินวาระที่คณะกรรมการสมาคมแต่งตั้ง ๒๑.๔ เรียกประชุมใหญ่สามัญประจำปีและประชุมใหญ่วิสามัญ ๒๑.๕ แต่งตั้งกรรมการในตำแหน่งอื่นๆ นอกจากที่ได้กำหนดไว้แล้วในข้อบังคับนี้ เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสมาคม ๒๑.๖ บริหารกิจการของสมาคมเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตลอดจนมีอำนาจอื่นๆ ตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้ ๒๑.๗ รับผิดชอบในกิจการทั้งหมด รวมทั้งการเงินและทรัพย์สินทั้งหมดของสมาคม ๒๑.๘ จัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญในกรณีที่สมาชิกสามัญจำนวนตั้งแต่ ๕๐ คนขึ้นไปทำหนังสือร้องขอต่อคณะกรรมการสมาคม โดยจะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญขึ้นภายใน ๓๐ วัน ๒๑.๙ จัดเอกสารหลักฐานต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวกับการเงิน ทรัพย์สินและการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของสมาคมให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ และสามารถจะให้สมาชิกตรวจดูได้เมื่อสมาชิกร้องขอ ๒๑.๑๐ จัดทำบันทึกการประชุมต่างๆ ของสมาคมเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานและเผยแพร่ให้สมาชิกได้รับทราบ ๒๑.๑๑ อื่นๆ ตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้ ข้อ ๒๒ คณะกรรมการต้องประชุมกันเพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการบริหารกิจการของสมาคมอย่างน้อยปีละ ๒ ครั้ง ข้อ ๒๓ การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะครบองค์ประชุม มติของที่ประชุมคณะกรรมการให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในการประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นได้อีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด ข้อ ๒๔ ในการประชุมคณะกรรมการสมาคม ถ้านายกสมาคมและรองนายกสมาคมไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการที่มาร่วมประชุมคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมคราวนั้น
หมวดที่ ๔ การประชุมใหญ่ -------------------- ข้อ ๒๕ การประชุมใหญ่ของสมาคมมี ๒ ประเภท ๒๕.๑ การประชุมใหญ่สามัญ ๒๕.๒ การประชุมใหญ่วิสามัญ ข้อ ๒๖ คณะกรรมการต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ปีละ ๑ ครั้ง ภายในเดือนมีนาคมของทุกปี และเลือกตั้งนายกสมาคมคนใหม่ในกรณีครบวาระ ในกรณีที่ไม่สามารถประชุมใหญ่สามัญประจำปีภายในเดือนมีนาคมตามข้อบังคับ ให้นายกสมาคมเปิดประชุมใหญ่วิสามัญได้ภายใน ๖๐ วัน ข้อ ๒๗ การประชุมใหญ่วิสามัญอาจจะมีขึ้นได้ก็โดยเหตุที่คณะกรรมการเห็นควร หรือสมาชิกสามัญจำนวนตั้งแต่ ๕๐ คนขึ้นไปทำหนังสือร้องขอต่อคณะกรรมการสมาคมให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญก็ได้ โดยให้นายกสมาคมเรียกประชุมใหญ่วิสามัญภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่รับคำร้องขอ ถ้านายกสมาคมไม่สามารถเรียกประชุมได้ไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้สมาชิกผู้ร้องขอเป็นผู้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญได้ตามข้อบังคับนี้ ข้อ ๒๘ การแจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ ให้เลขาธิการเป็นผู้แจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ให้สมาชิกได้ทราบและการแจ้งจะต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร โดยระบุวัน เวลา และสถานที่ให้ชัดเจน โดยจะต้องแจ้งให้สมาชิกได้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๗ วัน และประกาศแจ้งกำหนดนัดประชุมไว้ ณ สำนักงานของสมาคมเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๗ วันก่อนถึงกำหนดการประชุมใหญ่ ข้อ ๒๙ การประชุมใหญ่สามัญประจำปีจะต้องมีวาระการประชุมอย่างน้อยดังต่อไปนี้ ๒๙.๑ แถลงกิจการและผลงานที่ผ่านมาในรอบปี ๒๙.๒ แถลงบัญชีรายรับ รายจ่าย และบัญชีงบดุลของปีที่ผ่านมา โดยผ่านการรับรองของผู้สอบบัญชีให้สมาชิกทราบเพื่อพิจารณาการรับรองงบดุล ๒๙.๓ เลือกตั้งนายกสมาคมคนใหม่เมื่อครบกำหนดวาระ ๒๙.๔ เลือกผู้สอบบัญชี ๒๙.๕ เรื่องอื่นๆ ถ้ามี ข้อ ๓๐ ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี หรือการประชุมใหญ่วิสามัญ จะต้องมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่า ๑๐๐ คน จึงจะถือว่าครบองค์ประชุม ในกรณีเมื่อล่วงเลยเวลาตามกำหนดประชุมไป ๓๐ นาทีและสมาชิกมาประชุมไม่ครบองค์ประชุม ให้เลื่อนการประชุมครั้งนั้นออกไปโดยให้คณะกรรมการสมาคมเรียกประชุมใหญ่อีกครั้งหนึ่งภายใน ๑๔ วัน สำหรับการประชุมในครั้งหลังถ้ามีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนเท่าใดก็ให้ถือว่าครบองค์ประชุม ยกเว้นถ้าเป็นการประชุมใหญ่วิสามัญที่เกิดขึ้นจากการร้องขอของสมาชิกสามัญ หากสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่ถึง ๕๐ คน ให้ถือว่าการประชุมเป็นอันเลิก ข้อ ๓๑ การลงมติต่างๆ ในที่ประชุมใหญ่ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันก็ให้ประธานในการประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นได้อีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด ข้อ ๓๒ ในการประชุมใหญ่ของสมาคม ถ้านายกสมาคมและรองนายกสมาคมไม่มาร่วมประชุม หรือไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการที่มาร่วมประชุมคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมคราวนั้น ให้เลขาธิการจัดทำบันทึกรายงานการประชุมแล้วนำเสนอให้ประธานลงนามรับรองและเก็บไว้เป็นหลักฐาน พร้อมจัดส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเผยแพร่ให้สมาชิกของสมาคมเพื่อทราบต่อไป ในกรณีที่เลขาธิการไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในการประชุมใหญ่ได้ ให้ประธานการประชุมแต่งตั้งกรรมการบริหารหรือสมาชิกสามัญคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่แทน
หมวดที่ ๕ การเงินและทรัพย์สิน -------------------- ข้อ ๓๓ การเงินและทรัพย์สินทั้งหมดให้อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการ เงินสดของสมาคม ถ้ามีให้นำฝากไว้ธนาคารออมสิน หรือธนาคารพาณิชย์ที่ใกล้เคียงกับสถานที่ตั้งสมาคมแล้วแต่มติที่ประชุมคณะกรรมการจะเห็นสมควร ข้อ ๓๔ การลงนามในตั๋วเงินหรือเช็คของสมาคมต้องมีลายมือชื่อของนายกสมาคมหรือรองนายกสมาคมตำรวจผู้รับมอบหมายลงนามร่วมกับเหรัญญิกหรือเลขาธิการหรือกรรมการผู้รับมอบหมาย ข้อ ๓๕ ให้นายกสมาคมมีอำนาจสั่งจ่ายเงินในกิจการของสมาคมได้คราวละไม่เกิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งการสั่งจ่ายเงินในแต่ละคราวจะต้องมีรายการแสดงการจ่ายเงิน และแผนการใช้เงินที่ชัดเจนโดยมีเลขาธิการและเหรัญญิกลงนามรับรองแผนการเงินนั้น แต่หากจะสั่งจ่ายเงินเกินกว่าจำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท ต้องขออนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการก่อน </ |